Any Doc!!!!
Would you like to react to this message? Create an account in a few clicks or log in to continue.

“ภูเก็ต” ยุค 3G เวทีนี้ฝรั่งเล่นกันเอง

Go down

“ภูเก็ต” ยุค 3G เวทีนี้ฝรั่งเล่นกันเอง Empty “ภูเก็ต” ยุค 3G เวทีนี้ฝรั่งเล่นกันเอง

ตั้งหัวข้อ  att Wed Dec 30, 2009 8:08 pm

http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=83750

นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา ธันวาคม 2552

“ภูเก็ต” ยุค 3G เวทีนี้ฝรั่งเล่นกันเอง
โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์

หากเหตุการณ์จลาจลเผาโรงงานแทนทาลัมเมื่อปี 2529 เป็นจุดเปลี่ยนครั้งแรกของเกาะภูเก็ต
ทำให้จุดขายของเมืองเปลี่ยนจากการทำเหมืองแร่มาเป็นเมืองตากอากาศระดับโลก หายนภัย "สึนามิ" ในปี 2547
ก็เป็นเหมือนจุดเปลี่ยนครั้งที่ 2 ที่ยกระดับภูเก็ตให้เป็นเป้าหมายของบรรดามหาเศรษฐีที่ต้องการมีกรรมสิทธิ์
เหนือที่ดินและสิ่งปลูกสร้างระดับหรูตามพื้นที่ซึ่งมีทิวทัศน์สวยงามรอบเกาะแห่งนี้ หลายคนเชื่อว่าภูเก็ตมักพบกับ
โอกาสเสมอ ยามต้องประสบกับวิกฤติ แต่โอกาสที่เกิดขึ้นในรอบนี้ได้เปิดพื้นที่ให้คนไทยในฐานะเจ้าของแผ่นดิน
สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยแค่ไหน เป็นเรื่องที่น่าคิด?

เสียงคลื่นที่ซัดเข้ามายังชายหาดสุรินทร์ กะตะ กะรน ซึ่งนักท่องเที่ยวที่นอนอาบแดดและเล่นน้ำอยู่กว่า 90% นั้น
เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ ฟังดูไม่แตกต่างจากเสียงคลื่นที่กำลังซัดชายหาดในยาง ชายหาดที่ยังเหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่ง
ของเกาะภูเก็ต ที่นักท่องเที่ยวชาวไทยและคนท้องถิ่นสามารถไปเล่นน้ำทะเลอันดามันได้อย่าง สนุกสนานและสบายใจ

แต่เสียงคลื่นที่กำลังซัดชายหาด และโขดหิน ซึ่งดังอยู่เบื้องล่างของพูล วิลล่า (บ้านตากอากาศที่มีสระว่ายน้ำในตัวเอง)
หรูที่ปลูกตามยอดเนินไล่เรียงลดหลั่นลงมาตามระดับของเนิน ซึ่งมีอยู่ทั่วไปตามมุมต่างๆ ของเกาะภูเก็ต

คงเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายนักสำหรับคนท้องถิ่น หรือนักท่องเที่ยวชาวไทยทั่วไปจะมีโอกาสได้เสพสุขกับบรรยากาศเช่นนี้

ยิ่งยามพระอาทิตย์ตกดินนักท่องเที่ยวไทยกับคนท้องถิ่นมีโอกาสชมได้เฉพาะ ที่แหลมพรหมเทพหรือชายหาดบางหาด

คนต่างชาติที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ วิลล่าหรูตามยอดเนินตลอดแนวฝั่งตะวันตกของเกาะ พวกเขาสามารถดูพระอาทิตย์
ดวงเดียวกัน ค่อยๆ ลับขอบฟ้าของทะเลอันดามันที่กว้างไกล โดยที่ไม่มีเงาของเรือรบมาบดบังทัศนียภาพ พร้อมกับจิบไวน์
หรือเครื่องดื่มเย็นๆ เคล้าเคลียไปกับคนที่รักริมระเบียงบ้านพักที่ปลูกในลักษณะเป็นส่วนตัวเฉพาะ

สมกับคำโฆษณาของเจ้าของโครง การที่มักใช้วลีเพื่อดึงดูดลูกค้าให้มาซื้อโครงการว่าเป็น "Your own paradise"

ต้นทุนการเสพบรรยากาศในสวรรค์ ส่วนตัวแบบนี้ คนไทยน้อยคนนักที่สามารถ รับไหว

"ภูเก็ตไม่มีภูเขา เพราะภูเก็ตเป็นเกาะ มีแต่พื้นราบกับยอดเนิน" เป็นคำพูด ติดตลกของคนภูเก็ตมาช้านาน
ตั้งแต่ก่อนเกิดหายนภัย "สึนามิ"จุดขายใหม่หลังวิกฤติ

วันที่ 26 เดือนนี้เป็นวันครบรอบ 5 ปีเต็มของหายนภัย "สึนามิ" ที่ทำให้มีคนตายกว่า 200 คนบนเกาะภูเก็ต

เชื่อว่าจนถึงวันนี้ คนภูเก็ตทุกคนคง ไม่มีใครสามารถลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงสายของวันนั้นได้

แม้หายนภัย "สึนามิ" จะสร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก แต่ท่ามกลางวิกฤติก็ย่อมปรากฏโอกาส
และโอกาสที่ว่านี้ได้บ่มเพาะจนกำลังจะกลายจุดขายใหม่ของภูเก็ตในอนาคต

เป็นจุดขายที่ทำให้ภูเก็ตราคา "แพง" ขึ้นกว่าช่วงก่อนเกิดสึนามิหลายเท่า!!!

ภูเก็ตทุกวันนี้ นอกจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกแล้ว ยังเป็นแหล่งรวมที่พักอาศัยระดับหรูราคาแพง
ที่นิยมสร้างกันตามยอดเนินรอบเกาะ สามารถมองเห็น วิวทะเลได้ชัด ไม่มีสิ่งปลูกสร้างใดมาบดบัง ทัศนียภาพ

กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของโครงการเหล่านี้คือพวกมหาเศรษฐีหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลก

หากมองจากทะเลเข้ามายังเกาะภูเก็ตทุกวันนี้ จะพบว่าตามยอดเนินที่รายล้อมอยู่ทุกมุมรอบเกาะ
มีการปลูกสร้างที่พักอาศัยทั้งลักษณะโรงแรม รีสอร์ตส่วนตัว และพูล วิลล่าระดับหรูเต็มไปหมด

ภาพของสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้เป็นเหมือนวอลล์เปเปอร์ที่ประดับอยู่ตามฝาผนัง
โดยมีสีเขียวของต้นไม้ของเนินนั้นๆ เป็นฉากของหลัง

ยอดเนินบางแห่งมีวอลล์เปเปอร์เหล่านี้ประดับอยู่ไม่ต่ำกว่า 3-4 โครงการ ในรูปแบบที่แตกต่างกัน

แต่รูปแบบที่แตกต่างกันนั้นไม่ได้ทำให้ราคาของแต่ละโครงการแตกต่างกันสักเท่าไร

เป็นราคาที่เศรษฐีคนไทย โดยเฉพาะพวกที่ไม่ใช่เศรษฐีใหม่ หากอยากจะมีที่พักแบบนี้สักหลัง คงต้องคิดหนัก

"ภูเก็ตเป็นที่แรกของประเทศไทยที่ก่อนเกิดสึนามิมีการขายบ้านกันในระดับราคา 1 ล้านเหรียญสหรัฐ
หรือหลังละ 50-60 ล้านบาท ทุกวันนี้ที่พักอาศัยเหล่านี้ก็ยังมีอยู่แต่จาก 50-60 ล้านเมื่อก่อนนี้วันนี้ มันขึ้นเป็น 100 กว่าล้าน
หรือจากหลังละ 1 ล้านเหรียญ ปัจจุบันขายกัน 4-5 ล้านเหรียญสหรัฐ" ธนันท์ ตัณฑ์ไพบูลย์ นายก สมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต
บอกกับผู้จัดการ 360 ํ

เขายกตัวอย่างวิลล่าหลังหนึ่งของโครงการตรีสรา ที่ตั้งอยู่บนถนนศรีสุนทร (ในทอน-รายัน) ช่วงเลยจากหาดในทอนขึ้นไป
บนเนินประมาณ 2 กิโลเมตร ซึ่งธนันท์เคยไปเยี่ยมชม และทราบว่าวิลล่าหลังดังกล่าวมีการซื้อ-ขายกันไปแล้ว
ที่ราคา 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 165 ล้านบาท (คิดจากอัตราแลกเปลี่ยน 33 บาทต่อ 1 ดอลลาร์)

แต่ตรีสราก็ไม่ใช่โครงการเดียวที่มีการซื้อ-ขายกันในราคาระดับนี้

"หลังละ 200-300 ล้านบาท ผมว่ามันยังกระจอกเกินไป คุณเคยขับรถขึ้นไปดูบน เขาไหม ผมเคยขึ้นไป ไปเห็นแล้ว
ผมยังตกใจเลย" ปมุข อัจฉริยะฉาย ประธานกะตะกรุ๊ป ให้ข้อมูลเพิ่ม ปมุขเป็นนักธุรกิจในภูเก็ตเพียงไม่กี่รายที่ยังใช้คำว่า
"ภูเขา" อาจจะเป็นเพราะเขา ไม่ใช่คนภูเก็ตโดยกำเนิดแต่เป็นคนจังหวัดนครศรีธรรมราชที่มาประสบความสำเร็จในภูเก็ต

"มีครับ รีสอร์ตหรูที่ขายให้กับคนต่างชาติหลังละ 150 ล้าน 180 ล้าน 200 หรือ 250 ล้าน ในพื้นที่นี้ขนาดคอนโดมิเนียม
ยังขายกันห้องละ 35 ล้านบาทเลย" สุรพงษ์ ปัญญาไวย์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) สาคูที่ดูแลพื้นที่บริเวณ
หาดในทอนและในยาง ยืนยัน

"เป็นเรื่องของความพอใจ ถ้าเขาตั้งราคาขาย 200-300 ล้านบาท แล้วยังมีคนซื้อก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะที่มันมีอยู่แค่นี้
มันไม่มีแบบนี้อีกแล้ว คุณไม่ซื้อที่นี่ ไปซื้อที่อื่นก็อาจจะไม่สวยแบบนี้" วัชระ ตันตรานนท์ ประธานบริษัทวีกรุ๊ป บิลดิ้ง
นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จากเชียงใหม่ที่เตรียมจะเปิดตัวโครงการที่พักอาศัย ระดับหรูบริเวณฝั่งตะวันออกของเกาะสิเหร่
ภูเก็ตในต้นปีหน้าให้ความเห็น

แล้วใครกันล่ะ ที่พึงพอใจกับการซื้อที่พักอาศัยในราคาระดับนี้?

"มันมีตลาดผู้ซื้อที่มันเป็นไฮเอนด์ จริงๆ แต่ตลาดตรงนี้ต้องบอกเลยมันเป็นตลาดซึ่งแคบมากๆ มีผู้ซื้ออยู่ไม่กี่คนหรอก
ในโลกนี้ พวกมหาเศรษฐีจริงๆ พวก celebrity นักฟุตบอล ดาราที่มีเงินมากๆ พวกนี้มีฐานลูกค้าอยู่ไม่มาก ที่มาหาซื้อบ้าน
กันในภูเก็ต เพราะฉะนั้นโครงการพวกนี้เกิดขึ้นได้ และเกิดขึ้นแล้ว แต่ก็จะอยู่ในวงซึ่งค่อนข้างแคบ ก็มีตรีสรา
กับอีก 3-4 โครงการที่ทำ รวมถึงศรีพันวาของกลุ่มคุณสงกรานต์ อิสระ กลุ่มนี้ก็ทำโครงการที่เรียกว่าไม่แพ้พวกต่างชาติ
ที่มาทำกัน บ้านราคา 3-4 ล้านเหรียญเขาก็ทำ แล้ว location ของเขาก็สวย เห็นทะเลเรียกว่า 360 องศาเลย
เรียกว่าเทียบชั้นกับพวกต่างชาติที่มาทำกันได้เลย" ธนันท์ให้คำตอบ

แม้ว่าตลาดจะแคบเพียงใด แต่ราคาขายที่ยั่วยวนใจและปัจจัยพื้นฐานของภูเก็ต ยังสามารถดึงดูดนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
จากทั่วโลกอีกหลายรายให้ต้องกระโดดเข้ามาเพื่อขอร่วมมีส่วนแบ่งกับตลาดนี้ได้อีก

อาจไม่ใช่เพียงแค่ 3-4 ราย อย่างที่ธนันท์ยกตัวอย่างให้ฟังข้างต้นเท่านั้น

เปิดพื้นที่ "บ้านหรู" โซนเหนือ

กระแสการลงทุนปลูกสร้างที่พักหรูตามยอดเนินบนเกาะภูเก็ต ไม่ใช่ปรากฏการณ์ ใหม่
เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้ว ตั้งแต่ก่อนเกิดสึนามิ

เพียงแต่ความคึกคักของการก่อสร้าง กระแสทุนที่โหมเข้ามาและราคาซื้อ-ขายที่ปรับสูงขึ้นเริ่มปรากฏภาพเป็นรูปธรรม
และอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานี้เอง

ก่อนหน้านี้ การก่อสร้างกระจุกตัวอยู่ตามยอดเนินของชายหาดที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวอย่างหาดป่าตอง กะรน กะตะ
ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกค่อนลงไปทางใต้ของเกาะ

ราคาที่ซื้อขายกันก็ยังไม่สูงมาก เต็มที่ก็ยูนิตละ 50-60 ล้านบาท

หลังจากพื้นที่แถบป่าตอง กะรน กะตะ เริ่มอิ่มตัว กระแสทุนได้เริ่มเคลื่อนตัวขึ้นมายังส่วนเหนือของเกาะ

เริ่มจากบริเวณหาดกมลา สุรินทร์ บางเทา รายัน ในทอน ไปจนกระทั่งเหนือ สุดบริเวณหัวเกาะ คือหาดไม้ขาว

สุวัฒน์ ประกอบพร ปลัด อบต.เชิงทะเลที่รับผิดชอบพื้นที่หาดสุรินทร์ บางเทา ขึ้นไปจนถึงบ้านรายัน
เคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เอาไว้เมื่อปี 2547 ก่อนเกิดเหตุ สึนามิไม่นาน เขาให้สัมภาษณ์ว่า

"พื้นที่ ต.เชิงทะเลกำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนมาก โดยเข้ามาลงทุนทั้งในส่วนของโรงแรม รีสอร์ต
และบ้านพักตากอากาศหรู ที่ตั้งอยู่บนเนินเขา ที่สามารถมองเห็นวิวทะเลได้อย่างสวยงาม
ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของชาวต่างชาติเข้ามา เช่าระยะยาว 30 ปี

ช่วงปีนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า คาดว่ามีห้องพักโรงแรมและรีสอร์ตเกิดขึ้นในพื้นที่ ต.เชิงทะเลไม่ต่ำกว่า 200 ห้อง
เช่น โรงแรมบันยันทรี และโรงแรมเชอราตัน ในเครือลากูน่าภูเก็ต มีการขยายห้องพักเพิ่ม รวมทั้งโรงแรมดิ อลามันด้า
โรงแรมบีเอส.พาวิเลียน 48 หลัง โรงแรมทวินปาล์มและโรงแรมทีท๊อป ซึ่งเปิดให้บริการเร็วๆ นี้ เป็นต้น ทำให้ขณะนี้
อบต.เชิงทะเลมีโรงแรม ระดับ 5 ดาวในพื้นที่ประมาณ 15 แห่ง มีห้องพักไม่น้อยกว่า 2,000-3,000 ห้อง

ในส่วนของการลงทุนโครงการบ้านหรูตากอากาศ ให้ชาวต่างชาติเช่าอาศัยในระยะยาว 30 ปี ก็ได้รับการสนใจจากนักลงทุน
ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติเข้ามาลงทุน แล้วหลายๆ โครงการ โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณหาดสุรินทร์ที่เป็นเนินเขา
สามารถมองเห็นวิวทะเลได้อย่างสวยงาม กำลังเป็นที่สนใจของนักลงทุนในการสร้างบ้านหรูราคาตั้งแต่ 20-30 ล้านบาทขึ้นไป
ทั้งนี้เนื่องจากบรรยากาศบริเวณ ต.เชิงทะเลยังคงความสวยงามและสงบเงียบมากกว่าแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ในภูเก็ต

โครงการบ้านหรูใน ต.เชิงทะเลที่กำลังลงทุนอยู่ในขณะนี้ เช่น โครงการลากูน่าทาวน์โฮมของเครือลากูน่า ที่มีการสร้าง
บ้านพักตากอากาศหรูรอบๆ สนามกอล์ฟบันยันทรี ให้ชาวต่างชาติเช่าระยะยาว 30 ปี โครงการบ้านไทยสุรินทร์ฮิลล์
ที่ขายกำลังจะหมดแล้ว โครงการบ้านรายัน โครงการบ้านสวนบัว โครงการรายันเอสเตส โครงการเลควู๊ด เป็นต้น
ซึ่งบ้านหรูราคาแพงในเชิงทะเลขณะนี้มีประมาณ 100-200 ยูนิตแล้ว แม้ว่าแต่ละโครงการ จะสร้างบ้านจำนวนไม่มากหลัง
ประมาณ 20-50 หลัง แต่จะเป็นบ้านที่มีราคาสูงมากโดย 90% ของลูกค้าที่มาซื้อบ้านดังกล่าวเป็นชาวต่างชาติทั้งสิ้น"

การเกิดสึนามิทำให้กระแสการลงทุนดังกล่าวหยุดชะงักลงชั่วคราว แต่หลังจากเหตุการณ์ผ่านไปได้เพียงไม่ถึง 2 ปี
กระแสทุนเหล่านี้ก็กลับมาใหม่

ที่สำคัญ ปริมาณของทุนกลับยิ่งทวีจำนวนมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว

"เหมือนโอกาสที่เกิดขึ้นจากวิกฤติสึนามิทำให้คนต่างชาติรู้จักภูเก็ตมากขึ้น จากภาพข่าวที่แพร่ตามโทรทัศน์ไปทั่วโลก
พวกเขาได้เห็นน้ำใจคนไทยที่ให้ความช่วยเหลือ นักท่องเที่ยวที่ประสบภัย ภาพเหล่านี้สร้างความประทับใจ
ให้คนอยากมาภูเก็ตมากขึ้น" ปมุขเปรียบเทียบ

"เหตุการณ์สึนามิ ทุกคนมีความเห็นใจ อยากจะมาช่วย เพียงแต่เขารอว่าเราจะฟื้นตัวเมื่อไร เขาจะกลับมาแน่
ผลในภาพกว้างอาจดูมีความเสียหายมาก แต่ความมั่นใจของนักท่องเที่ยว เขาพร้อมที่จะกลับมา"
สมบูรณ์ จิรายุส นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ให้ความเห็น

จังหวัดภูเก็ตใช้เวลาเพียง 6 เดือนเท่านั้น ก็สามารถฟื้นฟูสภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นจากหายนภัยสึนามิ
และพร้อมที่จะกลับมาต้อนรับนักท่องเที่ยวได้อีกครั้ง

ข้อมูลอย่างเป็นทางการของหน่วยราชการจังหวัดภูเก็ต สถิตินักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามายังจังหวัดภูเก็ต ในปี 2547
ซึ่งเป็นปีที่เกิดสึนามิ มีจำนวน 4.79 ล้านคน ในปีถัดมา คือปี 2548 ได้ลดลงเหลือ 2.51 ล้านคน

แต่ปรากฏว่าถัดมาอีกเพียง 1 ปี จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามายังภูเก็ตได้เพิ่มขึ้นถึงเกือบ 1 เท่าตัว เป็น 4.5 ล้านคน
ในปี 2549 และยังเพิ่มขึ้นเป็น 5 ล้านคน ในปี 2550 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าในช่วงก่อนเกิดสึนามิเสียอีก

"ปี 2550 ถือว่าดีที่สุด เรียกว่าสุดยอดที่สุดของภูเก็ตก็ว่าได้" สมบูรณ์บอก

การเข้ามาของเชนระดับโลก

การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวกลับคืนมาอย่างรวดเร็ว นอกจากจำนวนนักท่องเที่ยว ที่เดินทางเข้ามามากขึ้นกว่าช่วงก่อนเกิดสึนามิแล้ว

ปรากฏการณ์หนึ่งที่ถือเป็นตัวแปรสำคัญของจุดเปลี่ยนเกาะภูเก็ตในรอบนี้ คือการที่มีเชนโรงแรมระดับหรูประเภท 6 ดาว
หลายราย อาทิ Four Seasons หรือ Jumeirah ในเครือดูไบ โฮลดิ้งของรัฐบาลดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เข้ามาสำรวจ
พื้นที่เพื่อก่อสร้างโรงแรมระดับ 6 ดาวในภูเก็ต

"การเข้ามาของเชนเหล่านี้ทำให้ภูเก็ตมีความเป็นสากลมากขึ้น เพราะเชนต้องพยายามโปรโมตขายตัวเอง
ทำให้คนรู้ว่าเดี๋ยวนี้มีเจ.ดับบลิว.แมริออตในภูเก็ตแล้วนะ มีเชอราตันในภูเก็ตแล้วนะ เป็นการยกมาตรฐานของ
อุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยรวมทั้งหมด" เป็นมุมมองของสมบูรณ์

แต่สำหรับธนันท์ ในฐานะนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เขามองลึกไปกว่านั้น

"ถ้าเชนโรงแรมเหล่านี้เข้ามา ก็ยิ่งทำให้คนเห็นว่าภูเก็ตต้องเป็น world class destination ที่จะไปสู้กับเมืองท่องเที่ยวอื่น
ในภูมิภาคยุโรป หรือเมดิเตอร์เรเนียนได้ เพราะ เรากลายเป็นเมืองที่มีโรงแรมระดับ 6 ดาว กลุ่มลูกค้าที่มีฐานะการเงิน
หรือเศรษฐีระดับอภิมหาเศรษฐีก็มองภูเก็ตว่าจะเป็นแหล่งที่พร้อมด้วยไลฟ์สไตล์ ทำให้เป็นจุดสนใจของพวกเศรษฐี
มีสตางค์ของโลกนะ แต่ก่อนเราอาจจะพูดถึงระดับภูมิภาค แค่แถวๆ สิงคโปร์ หรือฮ่องกงที่มีคนต่างชาติ เข้ามาซื้อกัน
เดี๋ยวนี้ผมคิดว่าภูเก็ตเป็นแหล่งการลงทุนของโลกไปแล้ว" เขาให้เหตุผล

ไลฟ์สไตล์ที่เป็นจุดสนใจของอภิมหา เศรษฐีระดับโลกที่ว่า นอกจากบ้านพักซึ่งอยู่ในพื้นที่สวยงาม มีความเป็นส่วนตัวแล้ว
เมืองที่ตั้งยังต้องมีสนามบินนานาชาติที่ได้มาตรฐาน สามารถใช้เป็นจุดเชื่อมต่อกับพื้นที่ต่างๆ ได้ทั่วโลก มีโรงพยาบาลระดับ
มาตรฐาน มีสถานที่พักผ่อน หรือเล่นกีฬา เช่นสนามกอล์ฟ และมีแหล่งชอปปิ้งที่ทันสมัย ฯลฯ

ซึ่งภูเก็ตมีพร้อมอยู่แล้วในตัวเอง

จากสถิติของท่าอากาศยานนานา ชาติภูเก็ต ในปีงบประมาณ 2547 (ตุลาคม-กันยายน) มีเที่ยวบินระหว่างประเทศ
ที่บินเข้า-ออกสนามบินภูเก็ต 15,917 เที่ยว ลดลงเหลือ 9,970 เที่ยวในปีถัดมา พอปี 2549 จำนวนเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้น
เป็น 13,681 เที่ยวและยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น 16,884 เที่ยว ในปี 2550 และ 17,177 เที่ยวในปี 2551

ปีงบประมาณ 2552 ที่เพิ่งสิ้นสุดลง เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา จำนวนเที่ยวบินได้ลดลง 22.24% เหลือ 13,356 เที่ยว
เนื่องจากปัจจัยหลายอย่างทั้งปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก การระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 และที่สำคัญคือสถาน
การณ์ความไม่มั่นคงของการเมืองภายในประเทศ

การเคลื่อนย้ายการลงทุนจากทางฝั่งตะวันตกช่วงค่อนไปทางท้ายของเกาะ ขึ้นมายังส่วนเหนือของเกาะ
แม้ว่าจะเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

แต่ผู้ที่เข้ามาบุกเบิกพื้นที่นี้จริงๆ ต้องยกให้แก่กลุ่มไทยวาจากสิงคโปร์ที่ได้เข้ามาลงทุนในบริเวณชายหาดบางเทา
ในตำบลเชิงทะเลเอาไว้ตั้งแต่เมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว

พื้นที่ทะเลชายหาดบางเทาเดิมเป็นพื้นที่สัมปทานเหมืองแร่ดีบุกของบริษัท อ่าวขามไทย โดยมีเรือขุดแร่จอดในทะเล
อยู่หน้าหาดจำนวน 2 ลำ นอกจากจะทำให้ ทัศนียภาพไม่งดงามเหมาะสมกับการเป็นแหล่งท่องเที่ยวแล้ว เรือทั้ง 2 ลำดังกล่าว
ยังดูดแร่จากท้องน้ำใต้ทะเลจนทำให้ผืนทรายบนชายหาดทรุดตัวลงไปจนชาวบ้าน เรียกบริเวณดังกล่าวว่า "หาดเลพัง"

แต่ทรายที่ทรุดตัวไป กลับไปก่อให้เกิดชายหาดใหม่ที่สวยงามขึ้นในพื้นที่ใกล้เคียง
ซึ่งก็ยังอยู่ในบริเวณเดียวกับหาดบางเทาเช่นเดิม

ในปี 2527 บริษัทไทยวารีสอร์ทดีเวลลอปเม้นท์ ในเครือไทยวาเข้าซื้อที่ดิน บริเวณหาดบางเทาต่อจากตระกูลอุดมทรัพย์
มีการฟ้องร้องกันกับบริษัทอ่าวขาม ไทยเพื่อให้ย้ายเรือขุดแร่ทั้ง 2 ลำเคลื่อนไปจอดที่อื่น จนท้ายสุดบริษัทไทยวารีสอร์ทชนะ
และเริ่มก่อสร้างโรงแรมระดับหรูขึ้นโดย ดึงกลุ่มดุสิตธานีเข้ามาบริหาร เปิดเป็นโรงแรมดุสิต ลากูน่า รีสอร์ทขึ้นในปี 2530

ถือเป็นการเปิดพื้นที่ทางตอนเหนือของเกาะขึ้นเป็นครั้งแรก

จากนั้นกลุ่มไทยวาก็ขยายการลงทุนในพื้นที่หาดบางเทาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาทิ ในปี 2535 เปิดโรงแรมเชอราตัน แกรนด์ ลากูน่า
และสนามกอล์ฟลากูน่า ภูเก็ต กอล์ฟคลับ และหลังจากที่ได้เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปีถัดมา (2536)
ก็ขยายธุรกิจไปสู่การก่อสร้างที่พักอาศัยเพื่อจำหน่ายให้กับลูกค้าชาวต่างชาติ ซึ่งมีทั้งคอนโดมิเนียม และบ้านพักระดับหรู
ที่อยู่บริเวณรอบๆ สนามกอล์ฟ

"สมัยนั้นดูเหมือนราคาขายก็สูงถึงระดับหลังละ 20 ล้านบาท" มาโนช พันธ์ฉลาด นายก อบต.เชิงทะเล
ซึ่งเป็นคนในพื้นที่มาตั้งแต่กำเนิดบอก

ปัจจุบันบริษัทไทยวารีสอร์ท ดีเวลลอปเม้นท์ เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทลากูน่า รีสอร์ท แอนด์ โอเต็ล และยังคงอยู่
ในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนบริษัทอ่าวขามไทยได้ถูกบริษัทชิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เทกโอเวอร์ไป
ในปี 2539 ด้วยมูลค่า 123.66 ล้านบาท เพื่อเอาใบอนุญาตไปทำธุรกิจเหมืองแร่ต่อ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ

การเข้ามาลงทุนของกลุ่มไทยวา ที่บุกเบิกพื้นที่ส่วนเหนือของเกาะเป็นรายแรก ทำให้นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายหลังๆ
ที่เริ่มมองพื้นที่ในตอนเหนือของเกาะเช่นกัน ใช้ชื่อลากูน่า เป็นจุดหมายในการบอกกล่าวถึงที่ตั้งโครงการกับลูกค้าว่า
โครงการที่เขาเหล่านั้นสร้างเป็นโครงการที่อยู่ใกล้ๆ กับโครงการลากูน่าของไทยวา เพื่อให้ลูกค้ามองเห็นภาพ เพราะลูกค้า
ที่เป็นเป้าหมายส่วนใหญ่ต่างรู้จักโครงการลากูน่าดีอยู่แล้ว

"หลังเหตุการณ์สึนามิในปี 2547 เริ่มมีการพัฒนาที่ดินในบริเวณนี้มากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะสร้างบ้านอยู่บนเนิน
ไม่ต้องห่วง เรื่องผลกระทบจากคลื่น" มาโนชให้ความเห็น

อบต.เชิงทะเลมีพื้นที่รับผิดชอบตั้งแต่หาดสุรินทร์ บางเทา ขึ้นมาจนถึงบ้านโคกโตนด บ้านรายัน
ถัดขึ้นมาจากนั้นก็เป็นพื้นที่ในความรับผิดชอบของ อบต.สาคู

"พื้นที่ทางเหนือที่ได้รับความสนใจ เพราะยังเป็นธรรมชาติ มีลักษณะกึ่งชนบท กึ่งเมือง ไม่เหมือน ทางป่าตอง
ที่กลายเป็นเมืองไปแล้ว ทำให้พื้นที่แถบนี้ยังมีความสงบ มีวิถีดั้งเดิมของชาวบ้าน ซึ่งฝรั่งเขาชอบ
อีกอย่างคือมีความปลอดภัย และเรื่องยาเสพติด มีน้อย" สุรพงษ์ ปัญญาไวย์ นายก อบต.สาคูให้เหตุผล เสริม

ดันราคาที่ดินพุ่ง

พื้นที่ฝั่งตะวันตกทางตอนเหนือของเกาะที่กลายเป็นเป้าหมายในการพัฒนา ไล่ขึ้นมาตั้งแต่หาดกมลา สุรินทร์ บางเทา
บ้านโคกโตนด รายัน ไปจนถึงหาดในทอน ในยาง และไม้ขาว

ส่งผลให้ราคาที่ดินแถบนี้ถีบตัวขึ้นมาอย่างมาก

"แถวโคกโตนด รายัน 5-6 ปีที่แล้ว บอกขายไร่ละ 2 แสน ยังไม่มีใครอยากซื้อ เพราะมีแต่สวนยาง แต่เดี๋ยวนี้ไปขอซื้อ
ไร่ละ 5-6 ล้าน ยังไม่มีใครขาย แล้วก็ไม่มีที่ให้ขายด้วย" มาโนช นายก อบต.เชิงทะเล บรรยายให้เห็นภาพ

ทุกวันนี้ หากขับรถขึ้นเหนือมาตามถนนเส้นรอบเกาะ จากหาดป่าตอง มายังกมลา และสุรินทร์ เมื่อมองทางฝั่งขวา
(ซึ่งเป็นส่วนของเนิน) จะเห็นการก่อสร้างเกิดขึ้นเป็นระยะ

แต่การก่อสร้างเหล่านี้ยังไม่น่าตื่นตาเท่ากับเมื่อวิ่งจากหาดสุรินทร์ มาตามเส้นทาง สาย 4030 แล้วเลี้ยวซ้ายเข้ามายัง
ถนนสายศรีสุนทร ซึ่งจะผ่านบ้านโคกโตนด บ้านรายัน จนไปชนกับหาดในทอน จะพบสิ่งปลูกสร้างที่เกิดขึ้นทั้ง 2 ฟากฝั่ง
ของถนน (ทั้งส่วนที่เป็นเนินและติดชายหาด) นอกจากจะหรูหราแล้วยังสามารถมองวิวทะเลที่สวยงามได้อย่างชัดเจน

โครงการที่เกิดขึ้นตามถนนเส้นนี้ อาทิ โครงการพาวิลเลียน โครงการรายัน บีช โครงการตรีสรา โครงการอันดามัน ไวท์ บีช
และโครงการ Malaiwana ซึ่งเป็นโครงการท้ายๆ ก่อนที่ถนนจะลงจากเนินสู่พื้นราบที่หาดในทอน

ประเมินจากรูปแบบของการก่อสร้าง เมื่อผนวกกับวิวทะเลที่สามารถมองเห็นพระอาทิตย์ตกดินอย่างเด่นชัดแล้ว
ราคาขายวิลล่าของโครงการตรีสรา ที่ธนันท์ยกตัวอย่างให้ฟังในตอนต้น ซึ่งอยู่ในระดับหลังละ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น
สามารถใช้เป็นราคาฐานสำหรับการอ้างอิง (benchmark rate) ได้อย่างสบาย

ปลายปี 2550 ริษิณี สาริกบุตร ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัทคอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย
ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อเอาไว้ว่า

"ภาพการลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของภูเก็ตในปัจจุบันเน้นไปที่การพัฒนารีสอร์ต บ้านพักตากอากาศระดับไฮเอนด์
เจาะกลุ่มชาวต่างชาติเป็นหลักในรูปแบบให้เช่าระยะยาว 30 ปี โดยเป็นการลงทุนโรงแรมควบคู่กับการขายบ้านพักตากอากาศ
ในพื้นที่เดียวกันและมีเชนโรงแรมนั้นๆ เป็นผู้บริหารการเช่าให้กับเจ้าของที่ซื้อ ในลักษณะการปล่อยเช่ารวม (Rental Pool Program)
ซึ่งโครงการที่มีเชนโรงแรมเป็นผู้บริหารจะทำให้มูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ดัง กล่าวสูงกว่าทั่วไป 30-35% เพราะมีระบบ
การบริหารจัดการและเครือข่ายในการทำตลาด เช่าที่กว้างขวางสามารถสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนได้มากขึ้น

ในอนาคตจะมีซัปพลายใหม่เกิดขึ้นในภูเก็ตประมาณ 17 โครงการ รวม 969 ยูนิต มูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท
และส่วนใหญ่เป็นโครงการที่มีเชนโรงแรมเป็นผู้บริหาร ซึ่งจะทยอยเปิดตัวในปีนี้ เช่น แชงกรีล่า หาดบางเทา, ตรีสรา เฟส C
หาดในทอน, ดุสิตลากูน่า หาดบางเทา, บันยันทรี หาดบางเทา และมูฟเว็นพิค หาดกะรน โดยสาเหตุที่เชนโรงแรม ทั่วโลก
ให้ความสนใจมาลงทุนที่ภูเก็ต เนื่องจากเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ต่างชาติรู้จักดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวต่างชาติที่ทำงานในฮ่องกง
สิงคโปร์ ซึ่งมีเที่ยวบินตรงมายังภูเก็ตเป็นประจำทุกวัน โดยเป็นการซื้อเพื่อลงทุน ทั้งคาดหวังผลตอบแทนจากการเพิ่มมูลค่า
ของสินทรัพย์และรายได้จากการปล่อยเช่า ทั้งนี้กลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อระดับไฮเอนด์ เห็นได้จากจำนวน
เครื่องบินส่วนตัวที่เข้า-ออกภูเก็ตเพิ่มขึ้น 13% จากปีที่แล้ว

ทั้งนี้กลุ่มชาวต่างชาติที่มาซื้อที่พักอาศัยบนภูเก็ตมีการพักประจำเพียง 35% เท่านั้น ส่วนอีก 65% เป็นการซื้อ เพื่อมาพัก
ในฤดูท่องเที่ยว โดยกลุ่มสัญชาติที่นิยมซื้อที่พักตากอากาศที่ภูเก็ต ได้แก่ รัสเซีย สแกนดิเนเวีย อังกฤษ ออสเตรเลีย
เยอรมนี อินเดีย รวมถึงกลุ่มชาวตะวันออกกลาง ซึ่งนิยมเดินทางมานอกฤดูท่องเที่ยวของภูเก็ต ในช่วงเดือนมิถุนายน
ถึงกันยายนของทุกปี ทำให้ภูเก็ตมีนักท่องเที่ยวคึกคักตลอดทั้งปี"
att
att

จำนวนข้อความ : 1075
Registration date : 08/10/2008

ขึ้นไปข้างบน Go down

“ภูเก็ต” ยุค 3G เวทีนี้ฝรั่งเล่นกันเอง Empty Re: “ภูเก็ต” ยุค 3G เวทีนี้ฝรั่งเล่นกันเอง

ตั้งหัวข้อ  att Wed Dec 30, 2009 8:11 pm

เมืองแห่งมาริน่า

ความคึกคักของกระแสทุนที่หลั่งไหลมาทางตอนเหนือของเกาะในฝั่งตะวันตก จนทำให้ราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาทำให้นักลงทุน ที่มาทีหลังต้องมองหาพื้นที่ใหม่

พื้นที่ฝั่งตะวันออกของเกาะเริ่มถูกหมายตาเป็นที่สนใจของนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เหล่านี้

เพียงแต่รูปแบบการพัฒนาพื้นที่ในฝั่งตะวันออกแตกต่างจากฝั่งตะวันตก ด้วยสภาพของพื้นที่ทะเลฝั่งตะวันออกของเกาะภูเก็ต
เป็นพื้นที่ทำเหมืองดีบุกเดิมในอดีตมีการดูดทรายจากท้องน้ำขึ้นมาเพื่อหาแร่ดีบุกเป็นระยะเวลาหลายสิบปี ทำให้ท้องน้ำ
และชายหาดในฝั่งตะวันออก มีลักษณะเป็นดินโคลน ไม่เหมาะสำหรับการว่ายน้ำ หรือนอนอาบแดด

อีกทั้งวิวทะเลฝั่งตะวันออก ไม่เป็นท้องทะเลที่เวิ้งว้างเหมือนฝั่งตะวันตก เพราะมีเกาะเล็ก เกาะน้อยเป็นจำนวนมาก
และทางตอนเหนือของเกาะฝั่งตะวันออก ยังสามารถ มองเห็นชายฝั่งจังหวัดพังงา ความสวยงามจึงไม่เหมือนกัน

พื้นที่ชายฝั่งตะวันออกส่วนใหญ่จึงถูกทำเป็นท่าเรือ ทั้งเรือประมง และเรือนำเที่ยว เพื่อขนส่งผู้โดยสารไปเที่ยวต่อ
ยังเกาะพีพี เกาะนาคา หรือเกาะยาว

การเข้ามาพัฒนาพื้นที่แถบนี้จึงต้องสร้างโครงการที่เหมาะสมกับพื้นที่ แม้ว่ากลุ่มลูกค้าเป้าหมายยังคงเป็น
ชาวต่างชาติเหมือนเดิม แต่ต้องเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีไลฟ์สไตล์อีกแบบหนึ่ง

นั่นคือกลุ่มคนที่สนใจกีฬาทางน้ำ หรือบรรดามหาเศรษฐีที่เป็นเจ้าของเรือยอชต์หรูหราราคาลำละหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ

โครงการประเภทมาริน่าพร้อมบ้าน พักอาศัยระดับราคาหลังละ 1-3 ล้านดอลลาร์ มีการก่อสร้างในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของ
เกาะภูเก็ตมาระยะหนึ่งแล้ว ตั้งแต่ก่อนเกิดสึนามิ

โดยเฉพาะหลังจากรัฐบาลในยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศลดภาษีนำเข้าเรือยอชต์เมื่อปี 2546
ส่งผลให้มีการแล่นเรือยอชต์เข้ามาเที่ยวยังภูเก็ตเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

โครงการเหล่านี้ อาทิ โบ๊ทลากูน รอยัล ภูเก็ต มารีน่า อ่าวปอ แกรนด์ มารีน่า หรือยอร์ช เฮเว่น

ริษิณี สาริกบุตร ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัทคอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้กล่าวไว้
ในการให้สัมภาษณ์กับสื่อคราวเดียวกันว่า "หลังจากที่ดินในฝั่งตะวันตกที่เหมาะในการพัฒนาโครงการหาได้ยากขึ้น
ทำให้การพัฒนากระจายไปยังฝั่งตะวันออกแทน โดยในฝั่งตะวันออกมีท่าจอดเรือ 5 ท่า สามารถรองรับเรือได้ 800 ลำ
สามารถจอดเรือได้ทั้งปี จึงได้รับความนิยมจากนักเล่นเรือเป็นอย่างมาก การพัฒนามักจะอยู่บริเวณโดยรอบของท่าจอดเรือ

นอกจากนี้การลงทุนยังกระจายไปยังพื้นที่ใกล้เคียง เช่นพังงา ในบริเวณท้ายเหมือง โดยกลุ่มราฟเฟิลส์ ซึ่งพัฒนาเป็น
วิลล่า 25 ยูนิต ราคาขาย 44-69 ล้านบาท รวมไปถึงหมู่เกาะต่างๆ โดยรอบบางเกาะเป็นการซื้อที่ดินทั้งเกาะเพื่อพัฒนา
เป็นโครงการขนาดใหญ่ ในลักษณะ Lease Hold สอดคล้องกับการได้มาซึ่งที่ดิน ส่วนใหญ่ที่ดินที่ซื้อจะเป็นเอกสารสิทธิ
นส.3 เช่น เกาะแรด โดยดิลกพล สุนทรเวช หลานชายของสมัคร สุนทรเวช ตั้งบริษัท TGR GROUP ร่วมกับกลุ่มนักลงทุน
ชาวแคนาดาลงทุนโครงการจูเมร่าห์ ไพรเวท ไอส์แลนด์ ภูเก็ต ประกอบด้วยโรงแรม วิลล่า ท่าเรือยอชต์ มูลค่า 5,000 ล้านบาท
โดยให้เชนจูเมร่าห์จากดูไบเป็นผู้บริหารงาน

นอกจากนี้กลุ่มทาทา กรุ๊ป ธุรกิจยักษ์ใหญ่จากอินเดีย ซึ่งมีโรงแรมในอินเดียไม่น้อยกว่า 20 แห่ง ได้เข้ามาลงทุน
โครงการ TAJ Exotic เกาะโหลน โดยซื้อที่ดินทั้งเกาะรวม 125 ไร่ พัฒนาเป็นโรงแรมและวิลล่า มูลค่าไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท
แบ่งการพัฒนาเป็นเฟส โดยในส่วนวิลล่ามี 19 ยูนิต ราคาขาย 128-384 ล้านบาทต่อยูนิต มูลค่ารวมกว่า 7,000 ล้านบาท"

ริษิณียังให้ข้อมูลถึงราคาที่ดินทั้ง 2 ฝั่งของเกาะภูเก็ตขณะนั้นด้วยว่า

"ปัจจุบันราคาที่ดินฝั่งตะวันตกของภูเก็ตเฉลี่ยอยู่ที่ 35 ล้านบาทต่อไร่ เพิ่มขึ้น 30-40% จากปีที่แล้ว เนื่องจากที่ดินทำเลดี
ที่เหมาะกับการพัฒนาหาได้ยากขึ้น ส่วน ฝั่งตะวันออกราคาเฉลี่ย 17 ล้านบาทต่อไร่ หากพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัย ราคาเฉลี่ย
จะอยู่ที่ 130,000 บาทต่อ ตร.ม. ส่วนฝั่งตะวันตกราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 100,000 บาทต่อ ตร.ม. โดยโครงการใหม่ๆ จะเริ่มกระจาย
ไปพัฒนาในบริเวณตอนเหนือของหาดป่าตอง เช่น หาดกมลา ที่ยังมีที่ดินว่างเปล่าให้พัฒนา"

พื้นที่ฝั่งตะวันออกของเกาะที่กำลังได้รับการพัฒนาในขณะนี้ หากนับจากแหลม พันวาซึ่งพัฒนาไปก่อนหน้านี้ขึ้นไปแล้ว
ก็จะมีตั้งแต่พื้นที่บนเกาะสิเหร่ ป่าคลอก อ่าวปอ จนกระทั่งเหนือสุดที่ท่าฉัตรชัย

ซึ่งที่ท่าฉัตรชัยนี้ รัฐบาลก็มีโครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมนานาชาติ เพื่อรองรับตลาดนักท่องเที่ยวอีกกลุ่มหนึ่งคือ
กลุ่มที่เข้ามาเพื่อประชุม สัมมนาที่เรียกกันว่า ตลาดไมส์ ในอนาคต

ทุกวันนี้ ยามเย็นๆ ที่คนในเมืองภูเก็ตชอบไปนั่งชมวิวทิวทัศน์ หรือปิกนิกกับครอบครัว หรือคนที่รักบริเวณสะพานหิน
หากมองไปทางซ้ายที่เป็นเกาะสิเหร่ จะมอง เห็นวอลล์เปเปอร์ผืนใหญ่บนผนัง ตั้งแต่เชิงเนินขึ้นไปจนกึ่งกลางของเกาะ
นั่นคือที่ตั้งของโรงแรมเวสทิน ที่กำลังเร่งมือก่อสร้างกันอยู่ทั้งวันทั้งคืน

บริเวณท้องน้ำหน้าพื้นที่ก่อสร้าง หากมองจากสะพานหินเช่นกัน จะพบเรือยอชต์ หรือเรือใบราคาแพง แล่นผ่านเข้าออกเป็นระยะๆ
เพื่อเข้าไปจอดยังมาริน่า หรือเข้ารับการบำรุงรักษาตามอู่ซ่อมเรือยอชต์ที่เกิดขึ้นหลายแห่งในบริเวณ ดังกล่าว

ในเกาะสิเหร่หากลองขับรถเวียนตามถนนรอบเกาะจะพบการก่อสร้างที่พักอาศัยระดับหรูเกิดขึ้นตามรายทาง
ถัดจาก โรงแรมเวสทินขึ้นไปแล้วก็จะมีโครงการ อาทิ Horison Villa ที่อยู่เหนือขึ้นไปจากหาดปลื้มสุข

หากใครที่ขับรถจากตัวเมืองภูเก็ตขึ้นไปทางเหนือ เมื่อถึงวงเวียนอนุสาวรีย์ท้าวเทพสตรี ท้าวศรีสุนทรแล้วเลี้ยวขวาไป
ทางป่าคลอก วิ่งเลาะชายหาดขึ้นไปเรื่อยๆ จะพบโครงการก่อสร้างที่พักอาศัยที่ผุดขึ้นมาเป็นช่วงๆ โดยที่บ้านยามู
พื้นที่ที่เคยมีข้อพิพาทระหว่างนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์กับชาวบ้านซึ่งมี วิถีชีวิตในการทำประมง โครงการ Yamu Resident
ถูกระงับไปเฉพาะส่วนที่จะสร้างเป็นมาริน่า แต่ส่วนที่พักอาศัยยังสามารถก่อสร้างได้จนใกล้จะเสร็จแล้ว

วัชระ ตันตรานนท์ ประธานบริษัทวีกรุ๊ป บิลดิ้ง นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จากเชียงใหม่ ที่กำลังขยายการลงทุนออกไป
อย่างกว้างขวาง ทั้งในสาธารณรัฐประชาชนจีน เกาะสมุย รวมถึงในภูเก็ต ก็มีแผนจะเปิดตัวโครงการที่พักอาศัยระดับหรู
บนเกาะสิเหร่ในต้นปีหน้า

โครงการของวัชระเป็นการร่วมทุนกับนักธุรกิจจากฮ่องกงและญี่ปุ่น แม้รายละเอียด ของโครงการยังไม่เป็นที่เปิดเผยมากนัก
แต่เนื่องจากสภาพของท้องน้ำบริเวณที่เขาได้ไปซื้อที่เอาไว้เป็นร่องน้ำลึก เพราะเคยเป็นจุดจอดเรือขุดแร่
ทำให้คาดกันว่าเขาจะสร้างเป็นโครงการท่าจอดเรือนำเที่ยวขนาดใหญ่ ระดับสตาร์ครู๊ซ ซึ่งในภูเก็ตยังไม่มีท่าเรือระดับนี้

จากสถิติของด่านศุลกากร ภูเก็ต ในปีงบประมาณ 2548 (ตุลาคม-กันยายน) มีเรือยอชต์เข้ามาในภูเก็ต 981 ลำ
และออกจากภูเก็ต 954 ลำ

ปี 2549 ตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็นขาเข้า 1,047 ลำ และออก 981 ลำ

ปี 2550 มีเรือยอชต์เข้า 1,098 ลำ และออก 1,125 ลำ

ปี 2551 ตัวเลขยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นขาเข้า 1,236 ลำ และออก 1,160 ลำ

ปี 2552 ที่เพิ่งสิ้นสุดไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีเรือยอชต์เข้ามายังภูเก็ต 1,299 ลำ และแล่นออก 1,275 ลำ

ส่วนตัวเลขในเดือนตุลาคม 2552 ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุด มีเรือยอชต์เข้ามายังภูเก็ต 70 ลำ และแล่นออก 50 ลำ

เป็นข้อมูลที่ยืนยันถึงความนิยมท่องเที่ยวทางเรือมายังเกาะภูเก็ตของบรรดามหาเศรษฐีที่มีเรือยอชต์เป็นของตัวเอง

อุปทานมีจำกัด

"ภูเก็ตไม่มีวันตาย" เป็นความเชื่อมั่นของคนที่เคยเข้าไปสัมผัสภูเก็ตอย่างลึกซึ้งมาแล้วทุกคน

ในทัศนะของคนที่อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยว ตลอดเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ภูเก็ตเผชิญ กับสถานการณ์ต่างๆ ที่มีผลกระทบ
ต่อการท่องเที่ยวมาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่เหตุการณ์ 911 ที่สหรัฐอเมริกา ในปี 2544 สงครามในอัฟกานิสถานและอิรักในปีถัดมา
จนกระทั่งการระบาดของโรคซาร์ส ไข้หวัดนก การระเบิดบนเกาะบาหลี และหายนภัยสึนามิ

"เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ท่องเที่ยวภูเก็ตวูบลงไปชั่วขณะ แต่สักพักมันก็กลับคืนมาใหม่" สมบูรณ์ จิรายุส
นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตให้ทัศนะ

เช่นเดียวกับแนวความคิดที่ว่า "ราคาที่ดินในภูเก็ตก็ไม่มีทางลง" ในมุมมองเฉพาะของเหล่านักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

"ราคาไม่เคยลงอยู่แล้ว สมัยสึนามิ มีเงินทุนจากต่างประเทศมาหาซื้อที่ดินราคาถูก เพราะเห็นว่าเราถูกกระทบ
แต่ทุนเหล่านี้ก็ผิดหวังไป เพราะเราฟื้นตัวเร็ว"
ธนันท์ ตัณฑ์ไพบูลย์ นายกสมาคมอสังหา-ริมทรัพย์ภูเก็ตเล่าให้ฟัง

ทำไมนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เชื่อเช่นนี้ เหตุผลก็เพราะภูเก็ตมีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเกาะ คือ

1-มีความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคทุกด้าน

2-ความสวยงามของภูมิประเทศ และทิวทัศน์ของทะเล

3-มีความหลากหลายที่ลงตัวอยู่ในตัวเองและความหลากหลายที่ว่าก็เป็นตัวแบ่งเซ็กเมนต์ของนักท่องเที่ยว
ที่มาเยือน ภูเก็ต กล่าวคือ

ด้านเหนือของเกาะทางฝั่งตะวันตก เป็นกลุ่มของเศรษฐีที่มาพักตากอากาศในบรรยากาศที่เป็นบ้านพักส่วนตัว

ค่อนลงไปทางใต้ คือนักท่องเที่ยวทั่วไปที่มีระดับหน่อยก็ไปหาดกะรน กะตะ แต่ต่ำลงไป ก็ไปหาดป่าตอง ราไวย์

ฝั่งตะวันออก คือพวกที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวทางเรือ

และ 4 ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด คือภูเก็ตเป็นเกาะ พื้นที่มีจำกัด เมื่อมีการซื้อขายกันแล้ว อุปทานก็หมดไปเรื่อยๆ
หากต้องการซื้อใหม่ก็ต้องซื้อในราคาที่แพงกว่า

ข้อมูลอย่างเป็นทางการของหน่วยราชการภูเก็ตในปี 2550 ระบุว่า "ภูเก็ตเป็นเกาะใหญ่ที่สุดในประเทศและ
เป็นจังหวัดที่เล็กที่สุดในภาคใต้ มีขนาดเนื้อที่ซึ่งเป็นพื้นดิน 538.72 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 336,875
ไร่ รวมเกาะบริวาร มีเนื้อที่ประมาณ 543.034 ตารางกิโลเมตร การใช้ประโยชน์ในที่ดินเป็นพื้นที่เกษตรกรรม
ร้อยละ 55.11 ของพื้นที่ พื้นที่ป่าไม้ ร้อยละ 18.76 ของพื้นที่ สิ่งก่อสร้างและอาคารร้อยละ 14.51 ของพื้นที่
พื้นที่แหล่ง น้ำร้อยละ 0.22% ของพื้นที่ และพื้นที่อื่นๆ เช่น ทุ่งหญ้า ที่โล่ง ร้อยละ 11.40 ของพื้นที่"

"
ภูเก็ตยังเป็นแหล่งการลงทุนที่ต่างชาติเห็นว่ามี capital gain ค่อนข้างสูง
capital gain ในที่นี้ คือสมมุติว่าเราซื้อวันนี้ 1 ล้านเหรียญ
เราไปขายในอีก 2-3 ปีข้างหน้า 3-4 ล้านเหรียญ ส่วนต่างกำไรที่เราเห็นจากการลงทุนช่วงสั้นนั้น มันยังดีกว่าที่จะไปลงทุน
แถวๆ ยุโรป อย่างในอังกฤษเดี๋ยวนี้พร็อพเพอร์ตี้แย่ จะไปซื้อรีสอร์ตแถวเมดิเตอร์เรเนียน หรือไปซื้อแถวมายอร์ก้า
แหล่งท่องเที่ยวอย่างโมนาโกอย่างนี้ ไปซื้อได้ที่ไหนล่ะในราคานี้ ต้องไปซื้อกัน 5 ล้านเหรียญ หรือ 10 ล้านเหรียญ
แล้วตลาดมันก็อิ่มตัวไปแล้ว พอถึงเวลาที่จะไปขายจะได้สัก 10%, 20% ของเงินลงทุน แต่ภูเก็ตเราลงทุนในปัจจุบัน
ภายใน 2 ปี เราเทิร์นกลายเป็น 100% หรือ 200% ซึ่งต่างชาติยังมองเห็นว่าภูเก็ตยังเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ยังน่าลงทุนอยู่
ถ้าเทียบกับเมืองท่องเที่ยวในภูมิภาคอื่นๆ อันนี้ผมว่าต่างชาติยังเชื่อมั่น" นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ตให้เหตุผล

ไม่นานมานี้บริษัทเอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด ร่วมกับมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย
จัดสัมมนาเรื่อง "อสังหาริมทรัพย์กับการเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินจังหวัดภูเก็ต" เพื่อนำเสนอรายงานสถานการณ์
อสังหาริมทรัพย์จากการสำรวจภาคสนามในพื้นที่ภูเก็ต

"จากการสำรวจพบว่า ในปี 2551 ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในภูเก็ตเติบโตอย่างต่อเนื่องจากปี 2550 ทั้งในส่วนของบ้าน
ที่อยู่อาศัยทั่วๆ ไป และบ้านหรูที่เป็นรีสอร์ตขายให้ชาวต่างชาติ คอนโดมิเนียม มีมูลค่ารวมของตลาดไม่ต่ำกว่า 120,000 ล้านบาท
เติบโตจากปี 2550 ที่มีมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 100,000 ล้านบาท

แบ่งเป็นบ้านที่เป็นรีสอร์ต คอนโดมิเนียมรีสอร์ต ที่มีข้อมูลสำรวจมาตั้งแต่ปี 2547 มีทั้งหมด 101 โครงการ มีมูลค่าการลงทุน
ไม่ต่ำกว่า 80,000 ล้านบาท หรือประมาณ 4,000 หน่วย เฉลี่ยราคาอยู่ที่หน่วยละ 22 ล้านบาท เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องรอบเกาะภูเก็ต
ที่สามารถมองเห็นวิวทะเลได้อย่างสวยงาม

บ้านกลุ่มนี้การลงทุนส่วนใหญ่จะมาจากนักลงทุนส่วนกลางและนักลงทุนต่างชาติ เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ที่ต้องการบ้าน
ในลักษณะนี้จะเป็นกลุ่มต่างชาติเกือบทั้งหมด ลูกค้าที่เป็นคนไทยมีเพียงเล็กน้อย เท่านั้น และตลาดกลุ่มนี้ยังมีการเติบโต
อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากภูเก็ตยังเป็นพื้นที่เป้าหมายพื้นที่หนึ่งที่คนต่างชาติต้องการมีบ้านพักตากอากาศ ประกอบกับภูเก็ต
เป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกและมีความปลอดภัยจึงทำให้คนต่างชาติเกิดความมั่นใจในการเข้ามาลงทุนและซื้อบ้านอยู่ที่ภูเก็ต

สำหรับที่ดินเปล่ารอบเกาะภูเก็ตนั้น จากการสำรวจพบว่าในรอบปีที่ผ่านมาราคา ที่ดินได้ขยับตัวเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 30-40%
โดยที่ดินฝั่งตะวันตก ยังเป็นที่ต้องการของนักลงทุนสูงเหมือนเดิม เนื่องจากชายฝั่งตะวันตกของเกาะภูเก็ตมี ความสวยงามมากกว่า
โดยเฉพาะที่ดินที่ติดริมทะเลและเห็นวิวทะเล เช่น ที่บริเวณหาดป่าตองราคาที่ดินจากเมื่อปีที่แล้ว อยู่ที่ไร่ละ 50 ล้านบาท
ปีนี้ขยับเป็นไร่ละ 70-80 ล้านบาท ส่วนฝั่งตะวันออก นั้นราคาไม่ขยับมากนัก เนื่องจากความสวยงามของทะเลมีน้อยกว่า

แนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ในภูเก็ต ยังเป็นพื้นที่ที่นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ ให้ความสนใจเข้ามาลงทุน
ทั้งที่เป็นบ้านระดับทั่วไป และบ้านระดับสูง ทั้งนี้เพราะปัจจัย ด้านลบจากภายนอกไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเมือง
เศรษฐกิจที่ชะลอตัวไม่ได้ส่งผลกระทบ ต่อธุรกิจอสังหาฯ ของภูเก็ตมากนัก ทำให้นักลงทุนมั่นใจในการเข้ามาลงทุนที่ภูเก็ต"

ธนันท์เปรียบเทียบราคาที่ดินของภูเก็ตกับเมืองตากอากาศระดับโลกอื่นๆ โดยจาก ข้อมูลที่เขามีพบว่าภูเก็ตยังมีราคาถูกกว่ามาก

"มีเพื่อนผมคนหนึ่งเป็นชาวอังกฤษ ไปซื้อบ้านตากอากาศบนเกาะมายอร์ก้าใน สเปนเขาประกาศขายอยู่ที่ 5 ล้านเหรียญ
แต่ผมว่าบ้านระดับเดียวกัน ถ้ามาซื้อที่ภูเก็ต อย่างเก่งราคาจะอยู่ประมาณ 2 ล้าน หรือ 1 ล้านเหรียญ แต่ถ้าไปซื้อที่อื่น
5-6 ล้านเหรียญ เพราะฉะนั้นอสังหาในบ้านเรายังถูกกว่าแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ค่อนข้าง มาก เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนมาลงทุน
ฝรั่งเองเคยมีการจัดสัมมนาในกลุ่มของเรียลเอสเตทเอเย่นต์ แล้วเชิญผมไปพูดทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันเลยว่าภูเก็ต
ยังเป็นเมืองที่ยังน่าลงทุนด้วยเหตุผลต่างๆ โดยเฉพาะ capital gain แล้วในระหว่างที่คุณซื้อลงทุนยังมีรีเทิร์น จะปล่อยเช่าราคาก็แพง
ผมทำคอนโดมิเนียม 160 ตร.ม. ให้เช่าในราคา 4-5 หมื่น ซึ่งผมว่าที่อื่นไม่มีเช่าในราคานี้ มันถูกกว่านี้ทั้งนั้น เราซื้อบ้าน
ลงทุนตกแต่งไปไม่กี่ล้าน บ้านเราสามารถปล่อยเช่าได้เดือนละ 1.5-2 หมื่นอย่างสบายๆ เลย แล้วตลาดเช่าของภูเก็ต
นี่ก็คึกคัก พอๆ กับตลาดซื้อขาย"

ฝรั่งเล่นกันเอง

จากการลงสำรวจพื้นที่และค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับภูเก็ตในช่วงที่ผ่านมา ของผู้จัดการ 360 ํ พบข้อเท็จจริงประการหนึ่งว่าทุกวันนี้
ผู้เล่นในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ระดับหรูของภูเก็ตกว่า 90% เป็นชาวต่างชาติ ซึ่งผู้เล่นเหล่านี้มีอยู่ด้วยกันในทุกระดับตั้งแต่

1-เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ซึ่งใช้กลวิธีซิกแซกหลากหลายประการเพื่อให้ได้ถือครองกรรมสิทธิ์นั้นๆ

2-นักพัฒนาโครงการ

3-บริษัทนายหน้าที่จัดหาผู้ซื้อหรือผู้เช่า

4-บริษัทก่อสร้าง และตกแต่งทั้งภายในและภายนอก

5-บริษัทผู้ค้าวัสดุก่อสร้าง

ฯลฯ

ข้อเท็จจริงดังกล่าวสอดคล้องกับผลการวิจัยเรื่อง "สภาพปัญหาการถือครองอสังหาริมทรัพย์ของคนต่างด้าวในประเทศไทย"
ที่นำทีมวิจัยโดย รศ.ศิริพร สัจจานันท์ สำนักวิชาการเศรษฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) ที่ประกาศเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
โดยผลการวิจัยดังกล่าวระบุว่าที่ดินบริเวณชายหาดรอบเกาะ
ภูเก็ตทุกวันนี้ถูกครอบครองโดยชาวต่างชาติถึงกว่า 90%

ผลการวิจัยดังกล่าวได้สร้างความฮือฮาให้กับวงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในภูเก็ต โดยเฉพาะธนันท์ ซึ่งแม้ว่าเขาจะยอมรับว่า
ชาวต่างชาติครอบครองที่ดินบริเวณพื้นที่ชายหาดไว้เป็นจำนวนมากจริง แต่ไม่น่าถึง 90%

"ผมว่าน่าจะประมาณ 60-70% เท่านั้น" เขายืนยันตัวเลข ทั้งกับสื่อที่โทรศัพท์ไปขอสัมภาษณ์ทั้งในการให้สัมภาษณ์กับ
ผู้จัดการ 360 ํ และทั้งในการไปเป็นวิทยากรในงานสัมมนาเรื่อง "ทางออก Nominee อสังหาริมทรัพย์" ซึ่งจัดโดย
ศูนย์ข้อมูลอสังหา ริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา

ธนันท์ยอมรับเช่นกันว่าทุกวันนี้ ชาวต่างชาติได้เข้ามามีบทบาทในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของภูเก็ตในทุกวงจรแล้ว

"แม้กระทั่งแพลนท์ผสมปูนซีเมนต์สำเร็จรูป ก็มีเจ้าของเป็นฝรั่ง"

เขายังได้เล่าประสบการณ์ที่ประสบด้วยตนเองเสริมขึ้นมาอีกว่า

"ผมทำบ้านจัดสรรระดับราคา 7-10 ล้านบาท วันหนึ่งมีฝรั่งเดินเข้ามาดูโครงการ ตอนแรกผมก็นึกว่าเป็นลูกค้า
พอเข้าไปสอบถาม ปรากฏว่าเป็นตัวแทนขายวัสดุก่อสร้างจะเอาสินค้ามานำเสนอ"

คนที่ทำธุรกิจรถตู้รับนักท่องเที่ยวรายหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ เล่ากับ ผู้จัด การ 360 ํ ว่า ทุกวันนี้จะมีลูกค้าที่เป็นฝรั่ง
หลายรายมาว่าจ้างรถให้ไปส่งยังแหล่งผลิต สินค้าหัตถกรรมต่างๆ อย่างเช่นบ้านถวาย หรือสันกำแพง โดยฝรั่งพวกนี้
จะมากว้านซื้อสินค้าตกแต่งบ้านที่เป็นผลงานของชาวเหนือ แล้วนำลงไปขายต่อให้กับฝรั่งที่เป็นเจ้าของโครงการ
พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ใน จังหวัดภูเก็ต เพื่อฟันกำไรอีกต่อหนึ่ง

สำหรับประเด็นเรื่อง nominee นั้น ธนันท์ให้ความเห็นเพียงสั้นๆ ว่าขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลจะจัดการต่อเรื่องนี้อย่างไร
โดยต้องคำนึงถึงผลทางเศรษฐกิจโดยรวมด้วยว่าการเข้ามาของผู้ประกอบการต่างชาตินั้น มีผลดี หรือผลเสียกับเศรษฐกิจ
และหากมีผลดีจะทำให้เป็นระบบได้อย่างไร เพื่อให้ประเทศได้รับผลประโยชน์สูงที่สุด โดยเฉพาะผลประโยชน์ทางด้านภาษี

คนไทยได้อะไร?

การเข้ามาพักอาศัยของชาวต่างชาติเป็นจำนวนมากในภูเก็ต โดยเฉพาะพื้นที่ใหม่ๆ ทางตอนเหนือของเกาะ
ได้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทั้งในด้านบวกและด้านลบคละเคล้ากันไป

ในด้านบวก ที่เห็นชัดที่สุดคือการจัดเก็บรายได้ของท้องถิ่นช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

โดยเฉพาะที่ตำบลเชิงทะเล ซึ่งเป็นจุดแรกของการเคลื่อนย้ายทุนมาจากทางส่วนใต้ของเกาะ

การปกครองท้องถิ่นใน ต.เชิงทะเลได้รับการยกระดับขึ้นเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล เมื่อปี 2538 ได้รับงบสนับสนุนเบื้องต้น
จากรัฐบาลเป็นงบประมาณปีแรก 7 แสนบาท

สุวัฒน์ ประกอบพร ปลัด อบต.เชิงทะเลกล่าวในการให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2547 เอาไว้ว่า

"จากการขยายการลงทุนทั้งโรงแรม รีสอร์ต บ้านหรู ในพื้นที่ ต.เชิงทะเล ได้ส่ง ผลให้การจัดเก็บภาษีของ อบต.เชิงทะเล
เพิ่มสูงขึ้นด้วย โดยในปี 2546 ที่ผ่านมา อบต.เชิงทะเลมีรายได้ถึง 72 ล้านบาทโดย 75% เป็นภาษีที่อบต.เป็นผู้จัดเก็บเอง
ซึ่งภาษีส่วนใหญ่จะได้จากภาษีโรงเรือนโรงแรมต่างๆ ในพื้นที่มีถึง 15 แห่ง

ทั้งนี้ โรงแรมที่จ่ายภาษีโรงเรือนให้อบต.เชิงทะเลสูงสุด คือโรงแรมอมันปุรี จำนวนกว่า 17 ล้านบาทต่อปี และในปี 2547
นี้คาดว่าจะสามารถจัดเก็บภาษีได้ประมาณ 80 ล้านบาท เพราะ อบต.ได้จัด ทำแผนที่ภาษีและคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า
รายได้ที่เกิดจากการจัดเก็บภาษีของ อบต. จะเพิ่มเป็น 100 ล้านบาทอย่างแน่นอน"

มาโนช พันธ์ฉลาด นายก อบต.เชิงทะเล กล่าวถึงเรื่องนี้กับผู้จัดการ 360 ํ ในคราว ที่ไปสัมภาษณ์เมื่อปลายเดือนตุลาคม
ที่ผ่านมา ถึงผลการจัดเก็บภาษีของ อบต.เชิงทะเล ในปีงบประมาณ 2552 ว่าเก็บได้ 148 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าเป้าเล็กน้อย
ส่วนในปี 2553 ได้ตั้งเป้าการจัดเก็บภาษีไว้ที่ 160 ล้านบาท

ส่วนที่ ต.สาคู สุรพงษ์ ปัญญาไวย์ นายก อบต.สาคู ได้กล่าวถึงเรื่องเดียวกัน โดยย้อนสถิติตั้งแต่เริ่มเข้ามารับตำแหน่ง
เมื่อ 6 ปีก่อน ว่าปีแรกที่เข้ามารับตำแหน่ง อบต.สาคูสามารถจัดเก็บรายได้จากภาษีได้ 7 ล้านบาท
และเพิ่มขึ้นเป็น 12 ล้านบาทในปีถัดมา

ปี 2549 สามารถจัดเก็บภาษีได้ 14 ล้านบาท แต่เมื่อถึงปี 2550 เก็บภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 24 ล้านบาท

ในปี 2551 เดิมตั้งเป้าไว้ 50 ล้าน แต่ผู้ประกอบการขอผ่อนผัน เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี จึงเก็บได้เพียง 38 ล้านบาท
แต่ปี 2552 ได้ตั้งเป้าหมายการจัดเก็บภาษี ไว้ถึง 65 ล้านบาท

ด้านลบ ผลจากการเข้ามาของต่างชาติทำให้วิถีชีวิตของคนท้องถิ่นเปลี่ยนไป

ใน ต.เชิงทะเล โรงแรมที่ผุดขึ้นเป็นจำนวนมากบริเวณหาดบางเทา ทำให้คนท้องถิ่นไม่สามารถเข้าไปถึงชายหาดได้
เพราะโรงแรมเหล่านี้ได้ปลูกสร้างปิดทางเข้าไว้หมด ทาง อบต.จึงได้นำภาษีที่เก็บได้ ไปขยายถนน
เพื่อเปิดทางเข้าสู่ชายหาดให้กับคนในพื้นที่

ส่วนที่ ต.สาคู ราคาที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ชาวบ้านซึ่งเดิมมีอาชีพทำสวนยางพาราขายที่ดินตนเองออกไปเพราะได้ราคา ที่จูงใจ
ชาวบ้านส่วนหนึ่งเปลี่ยนอาชีพไปทำ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว แต่บางส่วน อบต.ได้รณรงค์ให้ยังคงวิถีดั้งเดิมเอาไว้อยู่
เช่นการสนับสนุนให้เกิดตลาดซื้อขายสินค้าประมงสดๆ ที่ชายหาดในยาง

"เงินภาษีอีกส่วนหนึ่งที่เราเก็บได้ เรานำไปสร้างอาคารเรียนสำหรับเด็กเล็ก และจ้างอาจารย์สอนภาษาอังกฤษ
ซึ่งเป็นชาวต่างชาติเข้ามาสอน ปีหนึ่งตก 2 ล้านบาท ทำให้เดี๋ยวนี้เด็กๆ ใน ต.สาคูไม่จำเป็นต้องไปเรียนไกลถึงตัวอำเภอถลาง
ปีหน้า ผมตั้งใจว่าจะจ้างอาจารย์ชาวจีนมา สอนภาษาจีนให้กับเด็กๆ ที่นี่เพิ่มขึ้นอีก" สุรพงษ์บอก

อย่างไรก็ตาม มาโนช พันธ์ฉลาด นายก อบต.เชิงทะเล ได้สะท้อนข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งว่า
ระบบกฎหมายของไทย ยังไม่รัดกุมเพียงพอ เพราะการเข้ามาของนักลงทุนต่างชาติที่สร้างโรงแรมและบ้านพักอาศัยระดับหรู
ขายในหมู่ชาวต่างชาติกันเองนั้น กฎหมายได้เปิดช่องว่างเอาไว้ ทำให้การแจ้งการทำนิติกรรมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
มักไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

อาทิ การก่อสร้างโรงแรม ซึ่งในการขออนุญาตก่อสร้าง เจ้าของโครงการจะแจ้งว่าเป็นการก่อสร้างที่พักอาศัยรวม
ทำให้อัตราการจัดเก็บภาษีได้น้อยกว่า และเก็บเพียงครั้งเดียวตอนขออนุญาต ต่างจากการแจ้งว่าเป็นการสร้างโรงแรม
ที่จะสามารถจัดเก็บได้ตามจำนวนห้อง

หรือการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ แม้ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการนั้นมีการซื้อขายกันถึงยูนิตละ 200-300 ล้านบาท
แต่เป็นการซื้อขายกันเองของชาวต่างชาติ องค์กรบริหาร ส่วนท้องถิ่นไม่สามารถรับรู้ได้ถึงการทำนิติกรรมประเภทนี้
จึงไม่อาจเก็บภาษีการโอนอสังหาริมทรัพย์ได้

"ถ้ากฎหมายของเรารัดกุมกว่านี้ ผมว่าอย่างในพื้นที่ อบต.เชิงทะเล ปีหนึ่งๆ
สามารถเก็บภาษีได้ 200-300 ล้านบาท สบายๆ เลย" เขาบอก

ซึ่งก็เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่แตกต่างจากประเด็นเรื่อง nominee อย่างที่ธนันท์ได้ให้ความเห็นเอาไว้ข้างต้น

การจัดการ?

มาถึง ณ วันนี้ คงหลีกเลี่ยงข้อเท็จจริงไม่ได้ว่าการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเกาะภูเก็ตได้กลายเป็นตลาดของชาวต่างชาติ
ไปโดยปริยายแล้ว ผู้เล่นชาวไทยถ้าไม่มีทุนหรือฝีมือจริง อย่างกรณีของศรีพันวาก็คงทำได้แต่เพียงสร้างบ้านระดับกลางลงล่าง
เพื่อขายให้กับคนไทย หรือคนท้องถิ่น

ส่วนตลาดระดับบนตั้งแต่บ้านหรูราคา 10 ล้านบาทขึ้นไปจนถึงพูล วิลล่าตามยอดเนิน ราคา 200-300 ล้านบาท
เป็นตลาดของผู้ประกอบการที่เกือบทั้งหมดเป็นชาวต่างชาติ ที่ขายให้กับชาวต่างชาติกันเอง

แม้บางคนอาจมองโลกในแง่ดีว่าถ้าสภาพเป็นเช่นนี้ ก็คงจะต้องปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เพราะถึงอย่างไร
ชาวต่างชาติเหล่านี้ก็คงไม่สามารถขนที่ดินกลับไปที่บ้านของเขาได้

แต่หากขาดการบริหารจัดการปล่อยให้เป็นไปตามสภาพ เนิ่นนานเกินไป โอกาสที่รัฐหรือประเทศไทยจะมีรายได้
เพิ่มเข้ามามากขึ้นจากความคึกคักของตลาดระดับสูงเหล่านี้ก็จะยิ่งน้อยลง น้อยลงทุกที

ถึงที่สุด เมื่อมีข่าวการซื้อ-ขายบ้านกันในระดับราคา 200-300 ล้านบาทขึ้นในแต่ละที คนไทยก็ได้แต่
ตื่นเต้นแบบน้ำลายหกกับข่าวประเภทนี้


โดยที่ประเทศไทยแทบจะไม่ได้อะไรเลย!?!
att
att

จำนวนข้อความ : 1075
Registration date : 08/10/2008

ขึ้นไปข้างบน Go down

ขึ้นไปข้างบน


 
Permissions in this forum:
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ