Any Doc!!!!
Would you like to react to this message? Create an account in a few clicks or log in to continue.

"สื่ออินเตอร์เน็ต" ภัยเงียบต่อการศึกษาไทย

Go down

"สื่ออินเตอร์เน็ต" ภัยเงียบต่อการศึกษาไทย Empty "สื่ออินเตอร์เน็ต" ภัยเงียบต่อการศึกษาไทย

ตั้งหัวข้อ  att Sun Nov 15, 2009 9:51 am

http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01edu01151152&sectionid=0107&day=2009-11-15

วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11572 มติชนรายวัน

"สื่ออินเตอร์เน็ต" ภัยเงียบต่อการศึกษาไทย

โดย เมธาวี แก้วสนิท หลักสูตรนิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช


"สื่ออินเตอร์เน็ต" ภัยเงียบต่อการศึกษาไทย Edu01151152p1
คงไม่มีใครที่จะไม่รู้จัก อินเตอร์เน็ต (Internet)
เพราะถ้าปัจจุบันใครไม่รู้จักอินเตอร์เน็ต หรือใช้ไม่เป็น ก็จะถือว่าเชย
ล้าสมัย เนื่องจากขณะนี้
สื่ออินเตอร์เน็ตเป็นสื่อที่เข้าถึงกลุ่มผู้ใช้งานในทุกระดับได้ง่ายที่สุด
โดยเฉพาะในช่วงวัยเรียน
ซึ่งถือเป็นแหล่งค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อใช้ในการเรียน การศึกษา
แต่ใครจะรู้บ้างว่าข้อมูลสารสนเทศที่หลากหลายทางอินเตอร์เน็ต
กลับเป็นภัยเงียบส่งผลลบต่อการศึกษาไทยอย่างคาดไม่ถึง

อย่างที่เราพอจะทราบกันว่า
อินเตอร์เน็ตนั้นเป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขนาดยักษ์ที่เชื่อมต่อกันทั่วโลก
จนถูกขนานนามว่า ไซเบอร์สเปซ (Cyberspace) หรือพื้นที่ที่จำลองขึ้นมา
เพื่อตอบสนองความต้องการของคนจำนวนมาก
สามารถให้บริการผู้คนได้ทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งด้านการบริการทางธุรกิจ
การบริการข้อมูลข่าวสารในทุกๆ เสี้ยววินาที เช่น
ข่าวสารจากหนังสือพิมพ์ออนไลน์ โทรทัศน์ออนไลน์ วิทยุออนไลน์
หรือจากเว็บไซต์ที่เผยแพร่ข่าวต่างๆ มากมายนับไม่ถ้วน
สื่ออินเตอร์เน็ตยังสร้างช่องทางการพบปะและสนทนาออนไลน์ ผ่านอี-เมล
(Electronic Mail : E-mail) หรือแช็ต (chat) คุยโต้ตอบ ด้านความบันเทิง
สามารถใช้สื่อจากอินเตอร์เน็ตต่างๆ ได้มากมาย เช่น ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว
เสียง ภาพสามมิติ และที่สำคัญสื่ออินเตอร์เน็ตยังสามารถตอบสนองทางด้านการศึกษา
และถูกนำเข้ามาใช้ในการศึกษามากขึ้นทุกๆ วัน เช่น E-learning
การค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อการเรียนการสอนจากเว็บไซต์ทั่วโลก เป็นต้น

การที่สื่ออินเตอร์เน็ตสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดีกว่าสื่ออื่นๆ
เนื่องจากสามารถเผยแพร่ข้อมูลเข้าถึงคนจำนวนมากทั่วโลก
เพียงแค่มีคอมพิวเตอร์เชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
และยังให้ข้อมูลที่น่าสนใจได้มากกว่าและมีคุณภาพกว่าสื่อทั่วๆ ไป
ทั้งรูปแบบสี เสียง และเคลื่อนไหวได้ด้วย
ผู้รับสารก็จะสามารถเลือกดูเว็บไซต์ที่ตนสนใจได้นาน
และละเอียดเท่าที่ต้องการ ราคาถูกกว่าสื่ออื่นๆ
เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงได้ดี
และข้อสำคัญที่สื่ออื่นทำได้ยากคือ การรับ feedback
จากกลุ่มเป้าหมายได้ภายในเวลารวดเร็ว
และแสดงสถิติและประเมินผลผู้ใช้งานอย่างละเอียด

สื่ออินเตอร์เน็ตมีประโยชน์มากมายขนาดนี้
แต่ผู้เขียนกลับสงสัยว่าเหตุใดเด็กไทยจึงนำข้อมูลจากสื่ออินเตอร์เน็ตมาใช้
ผิดวัตถุประสงค์ เพราะการถือกำเนิดสื่ออินเตอร์เน็ตนั้น
ก็เพื่อให้เกิดการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารทั่วโลก
เกิดการศึกษาค้นคว้าหาข้อมูล แต่เด็กไทยตั้งแต่ชั้นประถม
ซึ่งส่วนใหญ่ใช้อินเตอร์เน็ตเป็น กลับนำความทันสมัยมาทำลายการศึกษา

โดยเฉพาะกลุ่มคนที่อยู่ในแวดวงวิชาชีพครู จะเห็นได้ชัดเจนว่าการทำรายงาน
การศึกษาค้นคว้าของนักเรียน นักศึกษา
ทั้งที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา
และแม้แต่ประถมศึกษา ซึ่งสามารถใช้คอมพิวเตอร์เป็นกันตั้งแต่เด็ก
มีการสืบค้นข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต
แต่กลับล้มเหลวเมื่อสื่อสารออกมาเป็นเนื้อหา ถ่ายทอดให้คนอื่นเข้าใจ
โดยเฉพาะเมื่อครู อาจารย์ สั่งการบ้าน
หรือให้ทำรายงานค้นคว้าหาความรู้ในประเด็นต่างๆ แต่นักเรียน
นักศึกษาสมัยนี้ เน้นการทำการบ้าน ทำรายงานแบบ Copy-Paste ซึ่งก็คือ
การเข้าเว็บไซต์ และเลือกเนื้อหาที่ตรงกับความต้องการ ยิ่งตอนนี้เรามี
www.google.com ซึ่งเป็น search engine ยอดนิยมที่แค่พิมพ์คำที่ต้องการแล้วคลิกค้นหา
สิ่งที่ต้องการก็จะปรากฏอยู่ตรงหน้านับพันนับหมื่นเว็บไซต์ทั่วโลก
นักเรียน นักศึกษาก็จะใช้วิธีอ่านเนื้อหาดูคร่าวๆ แล้วจัดการคัดลอก
หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า ก๊อบปี้ (Copy) เนื้อหามาจากเว็บไซต์
แหล่งข้อมูลต่างๆ แล้วนำมาจัดวาง หรือเพส (Paste) ในหน้ากระดาษต่อๆ กัน
ก่อนจะสั่งพิมพ์ หรือพรินต์ (Print) ออกมา รวบรวมส่งครู อาจารย์
โดยปราศจากการทำความเข้าใจกับเนื้อหาของชิ้นงานอย่างแท้จริง

ปัญหาที่เคยพบบ่อยๆ จากรายงานหรือการบ้านของนักศึกษา เป็นการ "Copy-Paste
จากอินเตอร์เน็ตแบบไม่มีศิลปะ" ไม่เป็นศิลปะอย่างไร? ก็หมายถึง
การที่ทำการคัดลอกมาวางต่อๆ กันแล้วขาดการเรียบเรียงเนื้อหา
ทำให้เนื้อหาที่นำมาวางต่อๆ กันไม่ประสาน ไม่สอดคล้องเป็นเนื้อเดียวกัน
นักเรียน นักศึกษาบางคนถึงขนาดนำข้อมูลมาจากหลายๆแหล่งที่มีความขัดแย้งกันเอง
ทำให้การบ้านชิ้นนั้นรู้ทันทีว่าไม่ได้อ่านทำความเข้าใจเอง
แต่เอามาจากอินเตอร์เน็ตแล้ววางต่อกันให้มีความยาวกินหน้ากระดาษแต่เพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้ บางทีอ่านไปอ่านมา แน่นอนว่าข้อมูลมาจากคนละที่กัน
อ่านปั๊บก็จะรู้ว่าภาษาไม่ไปด้วยกัน หากขาดการเรียบเรียงเนื้อหา เช่น
บางทีเนื้อหาข้อมูลเอามาจากเว็บไซต์ที่เป็นของทางการการใช้ภาษาก็จะดูมีแบบแผน
เมื่อเอามาเชื่อมกับข้อมูลที่หยิบมาจากเว็บบอร์ดของเว็บไซต์ทั่วๆ ไป
ซึ่งจะใช้ภาษาเรียบง่าย เข้าใจทันทีก็จะทำให้เกิดความขัดแย้งกันของระดับภาษา
การใช้ภาษาจึงไม่สอดคล้องกลมกลืนน่าอ่าน

รูปแบบและขนาดตัวอักษรที่ไม่เหมือนกัน เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่เห็นได้ชัดว่า นักเรียน นักศึกษาไทย
ขาดความละเอียดรอบคอบในการค้นคว้าหาข้อมูล และจัดเรียบเรียงเนื้อหา
บางคนนำข้อมูลจากหลายที่ซึ่งรูปแบบและขนาดของตัวอักษรไม่เหมือนกันในแต่ละเว็บไซต์
เมื่อคัดลอกมาแล้วก็จบ ไม่ได้ทำให้เป็นเนื้อเดียวกัน รูปแบบเดียวกัน
มิหนำซ้ำนักศึกษาบางคน คัดลอกถ้อยคำ ข้อความเนื้อหาที่มีลวดลาย
มีสีของตัวอักษรหลายๆ สี เหมือนสีรุ้ง พิมพ์ออกมาส่งให้อาจารย์ตรวจเลยก็มี
ไม่ได้ปรับสีให้เป็นสีเดียวกันทั้งหมดก่อน
หารู้ไม่ว่านอกจากจะจับผิดได้ง่าย เหมือนตำรวจจับผู้ร้ายโดยละม่อมแล้ว
ยังเป็นการสิ้นเปลืองที่จะต้องพิมพ์ออกมาโดยใช้หมึกสีทั้งที่ไม่จำเป็นอีก
ด้วย เรียกว่า "มีแต่เสีย (เงิน) กับเสีย (คะแนน)"

นอกจากนี้
ภาษาทุกภาษาเมื่อนำมาจับถ้อยร้อยความกันแล้ว จะต้องมีเครื่องหมายวรรคตอน
และต้องมีย่อหน้า เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงและก่อให้เกิดความเข้าใจในเนื้อหาโดยรวมมากขึ้น
แต่ข้อเสียอย่างหนึ่งของการใช้อินเตอร์เน็ตคือ การที่เราก๊อบปี้มาแล้ว
แล้วนำมาต่อกัน โดยไม่มีการจัดรูปแบบหน้าให้เหมาะสม
ทำให้ดูเหมือนการตัดแปะเนื้อหา ขาดความสวยงาม
และความเป็นเอกภาพของเนื้อหาในหน้ากระดาษ และการไม่มีย่อหน้า
ไม่มีกั้นหน้า-กั้นหลังกระดาษ ทำให้เนื้อหาดูสะเปะสะปะ ไม่เรียบร้อย
และก็ย่อมสร้างความขัดเคืองใจแก่อาจารย์ผู้ตรวจชิ้นงานเป็นอย่างมาก

ยิ่งไปกว่านั้น การคัดลอกเนื้อหามาบางครั้งก็จะคัดลอกติดเอา banner
ข้อความโฆษณาของหน้าเว็บไซต์ติดมาด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้อง
ทำให้จับผิดได้ทันทีเช่นกัน แบบนี้เราเรียกว่า "จับได้พร้อมหลักฐานชัดเจน"
แบบไม่น่าให้อภัยเลยจริงๆ

ประเด็นต่อมาการนำข้อมูลมาจากแหล่งข้อมูลใดก็แล้วแต่ แม้แต่อินเตอร์เน็ต
ผู้เขียนได้บอกกับนักศึกษาเสมอว่า ให้มีการอ้างอิงแหล่งที่มา
เพื่อให้เกียรติกับเจ้าของ ผู้แต่งและเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับรายงานของนักศึกษาเอง
แต่จนแล้วจนรอด นักศึกษาก็เพียงแต่คัดลอกเอา URL ด้านบนเว็บไซต์มาเท่านั้น
ไม่ได้ใส่ชื่อผู้แต่ง ผู้เขียนเลย ไม่ใช่เท่านั้น นักศึกษาบางคนยังคัดลอก
URL มาทั้งหมด ซึ่งบางอันยาวเป็น 2-3 บรรทัด เนื่องมาจากการ link
ไฟล์จัดเก็บในที่ต่างๆ เมื่อนำมา upload ขึ้นเว็บไซต์
ทำให้กลายเป็นสัญลักษณ์แปลกๆ เต็มไปหมด
นี่คืออีกหนึ่งกรณีที่ค้นพบจากปัญหาการใช้อินเตอร์เน็ตในการค้นคว้าทำรายงาน
ของเด็กปัจจุบัน

ปัญหาร้ายแรงที่ส่งผลมาจากความก้าวหน้าของการใช้สื่ออินเตอร์เน็ตในการค้นคว้าหาความรู้คือ
ปัจจุบันห้องสมุดแทบไม่มีคนเข้าใช้ หนังสือบางเล่ม
แทบไม่มีนักศึกษาคนใดหยิบจับ เพราะส่วนใหญ่ต้องการความสะดวกสบาย
การหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตมันง่ายกว่าการไปนั่งค้นหาข้อมูลจากตำราเป็นไหนๆ
หลายๆ ครั้งที่ลองสอบถามจากนักศึกษาว่าเหตุใดจึงไม่ใช้แหล่งอ้างอิงจากสื่ออื่นๆ
เช่น ตำรา หนังสือทางวิชาการ แทนที่สื่ออินเตอร์เน็ตบ้าง
เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์จะตอบว่า ใช้อินเตอร์เน็ตหาข้อมูลสะดวกกว่า
เร็วกว่าด้วย จึงไม่น่าแปลกใจที่ห้องสมุดกำลังจะหมดประโยชน์
กลายเป็นแหล่งข้อมูลคร่ำครึในสายตาของเด็กไทยตอนนี้

ที่ผ่านมาผู้เขียนได้ให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 หลักสูตรนิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช เขียนข่าวสั้นๆ
สะท้อนมุมมองเกี่ยวกับเรื่องรอบตัวของนักศึกษา มีนักศึกษา 2 คน
เขียนเกี่ยวกับสื่ออินเตอร์เน็ตที่ส่งผลกระทบด้านการศึกษาของเด็กไทย
จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟัง บทความแรกมีชื่อว่า
"ภาษาไทยวิบัติ...เพราะเด็กไทย" โดย นางสาวศศิกานต์ เพ็ชรศรีทอง
นักศึกษาแขนงการประชาสัมพันธ์ ความว่า

"การติดต่อสื่อสารกันนั้น ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีการพัฒนาอย่างมาก
โดยเฉพาะช่องทางที่ใช้กันบ่อยในปัจจุบันนี้ คือ
การติดต่อสื่อสารทางอินเตอร์เน็ต บนเว็บไซต์ต่างๆ
และในการติดต่อสื่อสารแบบรวดเร็วนี้เอง
ที่ทำให้เด็กไทยทุกคนชอบที่จะคุยกับคนที่อยู่ไกลๆ โดยที่ไม่เห็นหน้ากัน
ที่เราเรียกกันว่าแช็ต หรือการเล่น MSN คุยกันโดยการพิมพ์
อาจจะมองเห็นหน้าหรือไม่ก็ได้ มีการเล่นอย่างแพร่หลาย
โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งปัญญาชนด้วย
นักศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชก็เช่นกัน
มีการเล่นแช็ตเป็นจำนวนมาก ในการคุยกัน จะใช้ภาษาทางวัยรุ่นกันมาก เช่น
คำว่า "เป็น" ภาษาทางวัยรุ่นก็จะพิมพ์ไปว่า "เปง" เป็นต้น
ซึ่งใช้ผิดหลักการใช้ภาษาที่ถูกต้อง จนในบางครั้งการทำรายงานส่งอาจารย์
ภาษาที่ใช้ก็ยังใช้ภาษาในการคุยกับเพื่อน เขียนส่งอาจารย์
จนอาจารย์เดาภาษาในการเขียนไม่ถูกว่าต้องการสื่อสารว่าอย่างไร
และเขียนตกหล่นเป็นจำนวนมาก และในภาษาที่เขียนผิดนี้จะติดตัว
และเกิดการสับสนในการเขียนว่าจะเขียนอย่างไร
มีผลทำให้ภาษาไทยเกิดการเปลี่ยนแปลง และจะทำให้คนรุ่นหลังใช้ผิดต่อๆ กันได้

"จากการสัมภาษณ์ นางสาวนุชนาฏ วันเสน นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
เกี่ยวกับการใช้ภาษาของเด็กสมัยนี้ว่า
"มีการใช้ภาษาที่ไม่ค่อยถูกไวยากรณ์มากนัก ชอบดัดแปลงคำใหม่ๆ
มาใช้ในการคุยกับเพื่อนใน MSN และเขียนผิดอย่างนี้จนลืมคำเดิมของภาษาไทย
จนทำให้ในปัจจุบันนี้ เด็กไทยอ่อนในวิชาภาษาไทย อยากให้มีการเล่น MSN
ที่ใช้ภาษาที่ถูกหลักทุกคำ เพราะฉะนั้น เราต้องอนุรักษ์ภาษาไทย
เพื่อไม่ให้ภาษาไทยศูนย์สลายไปจากประเทศไทย" "

จะเห็นได้ว่าความเคยชินในการใช้ภาษาศัพท์วัยรุ่น
ส่งผลต่อการเรียนการสอนภาษาไทยอย่างคาดไม่ถึง
ซึ่งผู้เขียนเคยพบปัญหานี้บ่อยๆ ในงานเขียนของนักศึกษา เช่น "เดี๋ยวก่อน"
ใช้ว่า "เด๋วก่อน", "ใช่หรือเปล่า" ใช้ว่า "ใช่ป่ะ",
แม้แต่คำว่าลงท้ายพื้นฐานว่า "ครับ" กลับใช้ว่า "คับ", คำว่า "คะ" ใช้ว่า
"ค๊ะ" เป็นต้น เห็นอย่างนี้แล้ว ผู้เขียนจึงอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า
"แล้วอย่างนี้ ภาษาไทยเราจะธำรงอยู่ได้อย่างไร"

อีกชิ้นงานหนึ่งมาจากฝีมือของ นายศศิรวัฒน์ คชสง่า นักศึกษาแขนงการโฆษณา
ที่เล่าเกี่ยวกับผลกระทบจากโลกไซเบอร์กับชีวิตประจำวันของวัยเรียนในเวลานี้
ซึ่งประเด็นเนื้อหาส่วนหนึ่งมาจากเรื่องจริงในชีวิตของเขาเอง
ในชื่อชิ้นงานว่า "เวลาไม่เคยพอ"

"สังคมในโลกปัจจุบันนี้มีการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะการติดต่อสื่อสาร
มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด
มนุษย์ในโลกปัจจุบันต้องการความสะดวกสบายมากกว่าในอดีต มีสิ่งเร้าใจ
กระตุ้นให้มีความต้องการอยากได้ และความทันสมัยอย่างต่อเนื่อง
จนในปัจจุบันนี้ มนุษย์เรานั้นทำบางสิ่งบางอย่างจนลืมเวลา
และยุ่งอยู่กับสิ่งที่ตนทำ เทคโนโลยีต่างๆ
เหล่านี้ทำให้ผู้คนมักที่จะนอนดึก และขณะเดียวกันก็ต้องทำงานในตอนกลางวัน
ทำให้งานที่เราทำนั้นไม่มีประสิทธิภาพตามเป้าหมาย

"โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น ชอบที่จะเล่นแช็ต MSN ในตอนกลางคืน
ซึ่งเป็นโลกส่วนตัวที่คนวัยนี้ทำกัน หรือการคุยโทรศัพท์ดึกๆ
จนไม่มีเวลาพักผ่อน และในขณะเดียวกันก็ชอบที่จะพักผ่อนในตอนกลางวัน
ทำให้ไม่มีเวลาช่วยเหลืองานบ้านพ่อแม่ และไม่ไปเรียนหนังสือ
ซึ่งวัยรุ่นเหล่านี้ก็จะทำกิจวัตรซ้ำๆ กันอย่างนี้ทุกวัน

"ดังนั้นในวัยที่เราเป็นนักศึกษานั้น เราก็ควรมีการแบ่งเวลาให้ถูกต้อง
และนอนพักผ่อนอย่างเพียงพอ
เพื่อที่จะทำให้เรานั้นทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ บรรลุตามเป้าหมายได้
และจะเป็นบุคคลที่มีคุณภาพในอนาคตต่อไป"

ปัญหาอินเตอร์เน็ตต่อผลกระทบด้านการศึกษา จึงมีทั้งทางตรงและทางอ้อม ส่งผลกระทบต่อจุดเล็กๆ
ไปถึงจุดใหญ่ๆ เชื่อมโยงกันไปอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ดังนั้น
จึงต้องฝากภาระสำคัญนี้ให้แก่ผู้ปกครองและครูอาจารย์
ผู้จะต้องคอยดูแลใกล้ชิด คอยชี้แจงเยาวชนวัยศึกษาเล่าเรียน ให้พวกเขาได้เข้าใจว่าการเรียน
การค้นคว้าหาความรู้ที่แท้จริงต้องมาจากกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดจากความ
เข้าใจของพวกเขาเอง ไม่ได้อยู่ที่ความทันสมัยของข้อมูลข่าวสารที่ไหลเวียนอยู่ในโลกอินเตอร์เน็ต
แวดวงการศึกษาควรให้ความใส่ใจเรื่องนี้ให้มาก

เพื่อไม่ให้สังคมการเรียนรู้ของไทยกลายเป็น "สังคม Copy-Paste" ไปในที่สุด


หน้า 7
att
att

จำนวนข้อความ : 1075
Registration date : 08/10/2008

ขึ้นไปข้างบน Go down

ขึ้นไปข้างบน

- Similar topics

 
Permissions in this forum:
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ